การตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยา

NEUROPSYCHOLOGICAL EVALUATION

การตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยา คืออะไร

| What is a neuropsychological evaluation ?

ประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) เป็นสาขาเฉพาะทางในด้านจิตวิทยาคลินิก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทและสมอง การตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยา (Neuropsychological evaluation) เป็นการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและการทำงานของสมอง การประเมินจะใช้แบบทดสอบมาตรฐานทางประสาทจิตวิทยาเป็นหลัก บูรณาการณ์วิเคราะห์ข้อมูลเข้าร่วมกับการสังเกตุพฤติกรรมในขณะทดสอบ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลทางการแพทย์อื่นๆ การตรวจประเมินจะดำเนินการโดยนักจิตวิทยาคลินิก ลักษณะการตรวจประเมินโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำแบบทดสอบ เช่น การต่อบล็อกไม้ การคัดลอกรูปภาพ หรือ การให้จดจำข้อมูลต่างๆ หรืออาจเป็นการตอบคำถามจากการประเมินตนเอง (self-rating) ระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินจะขึ้นอยู่กับความสามารถพื้นฐานของผู้ป่วย ความซับซ้อนของอาการ และวัตถุประสงค์ของการทดสอบ​ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที จนถึง 3 ชั่วโมง

What are the referral questions ?

เราตรวจประเมินเพื่อทราบอะไรบ้าง ?

  1. การรู้คิด (cognitive function) เป็นความสามารถขั้นสูงของสมองซึ่งมีอยู่หลายด้าน ประกอบด้วย สมาธิ ความจำ ทักษะด้านการบริหารจัดการ (การแก้ไขปัญหา การให้เหตุผล และการวางแผน) มิติสัมพันธ์ ความเข้าใจภาษา การสื่อสารด้วยภาษา รวมถึงการตรวจประเมินเชาวน์ปัญญา
  2. ระดับความรุนแรงของการดำเนินโรคทั้งด้านการรู้คิด และความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  3. สภาวะทางจิตวิทยา เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล กลุ่มอาการทางประสาทจิตเวชต่างๆ รวมถึงลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล 

การตรวจประเมินสำคัญอย่างไร

ในกระบวนการวินิจฉัยและรักษาภาวะสมองเสื่อม การตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งและมีเป้าหมายหลักดังต่อไปนี้
  1. เพื่อคัดกรองและระบุระดับความรุนแรงของการดำเนินโรค
  2. เพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีความบกพร่องของการรู้คิดในด้านใด และ/หรือ มีกลุ่มอาการทางประสาทจิตเวชใด ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคและวางแผนรักษาได้มีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อติดตามผลของการบำบัดและรักษา

เตรียมตัวก่อนตรวจประเมินอย่างไร ?

  1. ญาติ/ผู้ดูแล ที่พาผู้ป่วยมาตรวจประเมิน ต้องมีความใกล้ชิดและสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยได้
  2. ผู้ป่วยควรพักผ่อน/นอนหลับ ให้เพียงพอในคืนก่อนทดสอบ
  3. ในกรณีที่มีปัญหาด้านการมองเห็นและการได้ยิน โปรดนำแว่นสายตาหรืออุปกรณ์ช่วยฟังมาด้วย
  4. งดทานกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาก่อนรับการตรวจประเมิน
  5. หากเป็นไปได้ โปรดงดทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้แพ้ เป็นต้น